กายภาพบำบัด : ศาสตร์แห่งการรีไซเคิลมนุษย์

 

บทนำ

บันทึกประสบการณ์ชุด “ในทุกข์ยังมีสุข” ซึ่งถ่ายทอดโดย นายแพทย์รวินันท์ ศิริกนกวิไล ชุดนี้ เป็นการเสนอวิธีคิดใหม่ๆ ในบางชีวิตที่น่าสนใจให้กับผู้อ่าน โดยเฉพาะท่านผู้อ่านที่รู้สึกว่าตกอยู่ในภาวะที่สิ้นหวัง ล้มเหลวในชีวิตคงจะได้ประโยชน์ในชุดนี้มากทีเดียว การนำเสนอแนวคิดผ่านประสบการณ์ในชุดนี้จะนำเสนอเป็น โดยแต่ละตอนจะมีบทสรุปจบในตัวเอง

การแพทย์สมัยใหม่ในปัจจุบันในด้านหนึ่งได้มีการพัฒนาไปอย่างสุดพิสดาร โดยเป็นการพัฒนาไปใน 2 ทิศทาง ได้แก่

ทิศทางที่หนึ่ง ได้แก่ การใช้ยาที่มีประสิทธิภาพสูงตรงเป้าหมายและพยายามลดผลข้างเคียง

ทิศทางที่สอง ได้แก่ การผ่าตัดแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอวัยวะของร่างกายที่มีข้อบกพร่อง ในทิศทางนี้ได้พัฒนาไปมากจนถึงขึ้นที่สามารถผ่าตัดแล้วเปลี่ยนส่วนอวัยวะได้ โดยการผ่าตัดเอาอวัยวะที่มีโรคของคนไข้ออกเสีย แล้วเอาอวัยวะเดียวกันจากอีกคนหนึ่งที่มีความสมบูรณ์กว่ามาใส่แทน

แม้ว่าการแพทย์จะได้มีการพัฒนาอย่างล้ำเลิศไปใน 2 ทิศทางดังกล่าว แต่ก็ปรากฏว่า ยังมีกลุ่มคนไข้ที่ไม่หายเป็นปกติ (แม้จะไม่ตาย) กลุ่มคนไข้เหล่านี้มักจะได้รับความสนใจจากแพทย์น้อย (มิได้หมายความว่าแพทย์จะไม่สนใจคนไข้เหล่านี้ แต่เป็นเพราะว่าแพทย์คิดว่าคนไข้เหล่านี้มีโอกาสดีขึ้นหรือหายได้น้อยมากจากวิธีการแพทย์สมัยใหม่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาหรือการผ่าตัด) กลุ่มคนไข้เหล่านี้มักจะได้รับความสนใจจากแพทย์น้อย (มิได้หมายความว่าแพทย์จะไม่สนใจคนไข้เหล่านี้ แต่เป็นเพราะว่าแพทย์คิดว่าคนไข้เหล่านี้มีโอกาสดีขึ้นหรือหายได้น้อยมากจากวิธีการแพทย์สมัยใหม่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาหรือการผ่าตัด) กลุ่มคนไข้เหล่านี้มีอยู่มากมาย ได้แก่ คนไข้อัมพาต เด็กสมองพิการแต่กำเนิด (ที่ทางแพทย์เรียกเด็กซีพี) และอื่นๆ อีกมากมาย

คนไข้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนไข้ที่หมอคิดว่าไม่น่ารักษาได้แล้วด้วย วิธีการสมัยใหม่ที่มีอยู่ เมื่อครั้งผมเป็นนักเรียนแพทย์เมื่อยี่สิบปีก่อนเวลาราวนด์วอร์ดกับอาจารย์ อาจารย์มักจะเรียกกลุ่มคนไข้พวกนี้ว่า “โฮปเลสเคส” แปลว่า คนไข้ที่สิ้นหวัง และเราก็เลยไม่ค่อยได้ค้นคว้าหาความรู้จากคนไข้เหล่านี้เท่าไร ก็ขนาดอาจารย์ยังบอกว่าสิ้นหวังเลย

แต่เดี๋ยวนี้ผมประจักษ์แจ้งด้วยประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับตัวเองที่บังเอิญตกอยู่ในกลุ่ม “โฮปเลสเคส” ว่าจริงๆ แล้วคนไข้เหล่านี้มีทางหายได้แน่นอนด้วยวิธีทางการแพทย์ที่เป็นที่รับรู้มานานแล้วว่า “วิธีกายภาพบำบัด” เพียงแต่วิธีทางกายภาพบำบัดนั้นได้รับความสนใจและค้นคว้าให้ทันสมัยน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้เราได้รับอานิสงส์จากกายภาพบำบัดในการช่วยคนไข้น้อยกว่าที่เป็นจริงมาก

ข้อเท็จจริงในการหายเป็นปกติของคนไข้นั้นมิใช่เพียงเพราะความผิดปกตินั้นหายไปจากการใช้ยาหรือการผ่าตัดเท่านั้น แต่มีกระบวนการของร่างกายที่แพทย์เรียกว่า “การฟื้นฟูสภาพของร่างกาย”  (Rehabilitation) หรือที่ชาวบ้านแต่โบราณเรียกว่า “การฟื้นไข้” หรือ “ระยะฟื้นไข้” นั่นเอง เพราะฉะนั้นการแพทย์สมัยใหม่อาจไปเพ่งที่จุดของการฆ่าเชื้อโรคหรือการเอาความผิดปกติของร่างกายออกไป และเอาอวัยวะใหม่เข้ามาแทนที่

การเพ่งที่จุดนี้แม้จะทำให้คนไข้ส่วนใหญ่หายดีขึ้น แต่ก็มีจุดอ่อนตรงที่ละเลยหรือลืมความสนใจในการค้นคว้าการพัฒนากระบวนการฟื้นไข้ เพราะถ้าแม้จะกำจัดหรือปรับปรุงความผิดปกติได้ไม่หมด แต่คนไข้อาจหายได้ถ้ากระบวนการฟื้นไข้ได้รับการพัฒนาให้ดีพอ ความรู้นี้สำคัญต่อสาธารณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อแพทย์ผู้กุมชะตากรรมของคนไข้ควรเข้าใจเรื่องนี้ให้ลึกซึ้งขึ้นว่า การหายของคนไข้มิได้สำเร็จหรือล้มเหลว หรือสิ้นสุดที่ผลที่ผลการใช้ยาหรือการผ่าตัดเท่านั้นแต่ยังมีกระบวนการต่อไป คือ กระบวนการฟื้นไข้ ซึ่งสามารถพัฒนามาทดแทนส่วนที่ยังขาดอยู่จากผลในการใช้ยาและการพัฒนา สาธารณชนจะได้ประโยชน์จากความรู้เพราะจะทำให้จุดจบแห่งชีวิตนั้นยาวขึ้นตามความจริงแห่งธรรมชาติที่ใช้ว่า

“ความจริงแห่งธรรมชาติเพราะธรรมชาติ คือ ความจริงที่ยิ่งใหญ่”

ความจริงเกี่ยวกับมนุษย์ คือ มนุษย์มิใช่เครื่องจักรที่จะหายหรือไม่หายด้วยการเอาอะไหล่ที่ชำรุดออกแล้วเอาอะไหล่ใหม่ใส่เข้าไป แต่มนุษย์มีวิญญาณและจิตใจที่เชื่อมโยงกับทุกระบบของร่างกาย รวมถึงการฟื้นไข้ของร่างกาย เพราะฉะนั้นคำพูดที่แพทย์มักใช้ว่า “ถ้าใจดี กายก็จะดีด้วย” ยังเป็นจริงอยู่ และมีความสำคัญต่อกระบวนการฟื้นไข้ของมนุษย์ ดังที่ผมจะขออนุญาตเล่าเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ต่อไป

การดำรงชีพอย่างปกติของมนุษย์นั้นหาใช่เป็นได้เพียงเพราะจากการปลอดจากเชื้อโรคหรือความผิดปกติเท่านั้น แต่อยู่ที่การมีความสามารถดำรงชีพได้อย่างปกติ เช่น การพูด การเขียน การใช้ และควบคุมอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ มนุษย์จึงดำรงชีพเป็นปกติสุขได้ โดยร่างกายมนุษย์มีจิตใจหรือสมองเป็นตัวสั่งการ มนุษย์เปลี่ยนสมองไม่ได้ แต่ฟื้นไข้ได้ด้วยกระบวนการกระตุ้นสมองที่เรียกว่า การให้การศึกษา (Re-education) ซึ่งผมคิดว่า นั่นคือ หัวใจของกระบวนการฟื้นไข้

ชีวิตในช่วง 1 ปีหลังนี้ ผมสามารถออกจากโรงพยาบาลรามาธิบดี และกลับมาทำงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครึ่งบ่ายของทุกวันจะไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ผมโชคดีอีกเช่นเคยที่ได้พบทีมงานกายภาพบำบัดที่มีคุณภาพคับแก้วที่โรงพยาบาลแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนๆ หนึ่ง ซึ่งผมถือว่าเธอเป็นกัลยาณมิตรของผม ถือว่าเธอเปรียบเหมือนหญิงเหล็กแห่งวงการกายภาพบำบัดไทยเลยทีเดียว เพราะผมได้เรียนรู้จากเธอมากมาย ทั้งในการฟื้นไข้จากการช่วยในฐานะคนไข้คนหนึ่ง และในเรื่องความรู้ของการฟื้นไข้ในฐานะแพทย์คนหนึ่ง

ในฐานะคนไข้ที่สิ้นหวังคนหนึ่ง เธอคือความหวังในการหายของผม และในฐานะแพทย์คนหนึ่ง เธอทำให้ผมรู้ว่ากายภาพบำบัดเป็นสิ่งสำคัญมากในการพัฒนาการฟื้นไข้และเป็นความรู้ที่สำคัญมากต่อผู้อยู่ในวงการบำบัดทุกข์ของชาวบ้านดังที่ผมจะพยายามเล่าให้ผู้อ่านได้เข้าใจต่อไป

หัวใจของการทำกายภาพบำบัดหรือเวชศาสตร์ฟื้นฟู คือ การกระตุ้นให้สมองสั่งการใช้และควบคุมอวัยวะส่วนที่ขาดหายไป จากการที่ยังคงมีความผิดปกติหลงเหลืออยู่ที่สมองให้ดีขึ้น หรือกลับคืนได้ด้วยการให้การศึกษาใหม่ คือ ให้สมองได้เรียนรู้ใหม่ว่าจะสั่งการทำงานได้อย่างไร ซึ่งโดยปกติสมองส่วนซีรีบรัม (cerebrum) จะเป็นตัวสั่งการให้แขนขาและอวัยวะของร่างกายเคลื่อนไหวได้ด้วยเส้นทางควบคุมการเคลื่อนไหว (motor pathway) มาถึงอวัยวะส่วนปลายตามที่สมองสั่งแต่ในกรณีที่ยังเหลือความผิดปกติอยู่ที่สมองส่วนซีรีบรัม เส้นทางควบคุมการเคลื่อนไหวก็เสียไปด้วย

ปัจจุบันความรู้ทางกายภาพบำบัดได้รับการยอมรับจากการทดลองแล้วว่า สามารถกระตุ้นให้เกิดเส้นทางควบคุมการเคลื่อนไหวให้เกิดขึ้นใหม่ได้ในสมองส่วนอื่นด้วย การกระตุ้นจากปลายทางย้อนกลับขึ้นไปให้สมองได้เรียนรู้ใหม่ กระบวนการกระตุ้นให้สมองได้เรียนรู้การควบคุมร่างกายกลับคืนได้ใหม่ เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องยาวนานและใช้เวลา และจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารพูดคุยสนทนาระหว่างนักกายภาพบำบัดกับคนไข้ที่ดีเพียงพอที่จะช่วยเสริมให้กระบวนการนี้เกิดในตัวคนไข้ให้ได้ หากเขียนเป็นแผนภูมิง่ายๆ จะได้ดังนี้

จะเห็นได้ว่า กายภาพบำบัดเป็นศาสตร์ที่นอกจากต้องอาศัยความรู้ด้านเทคนิควิชาการ (technical skill) แล้ว ยังต้องมีความเข้าใจคนไข้แบบองค์รวม (holistic) ที่เข้าใจคนไข้อย่างเพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ยากคนหนึ่ง จึงจะสามารถสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้จนถึงขั้นที่คนไข้ให้ความร่วมมืออย่างดีและเร่งศึกษาฟื้นฟูร่างกายให้มากขึ้นๆ ตามลำดับ

ผมคิดว่าความจริงส่วนนี้มีความสำคัญมากที่สุดที่กายภาพบำบัดช่วยให้คนไข้หายได้ ซึ่งถ้าย้อนกลับดูให้ดีๆ ทั้งนี้ ก็คือ แก่นแท้ของการรักษาไข้ทุกโรค คือ การดูแลคนไข้อย่างองค์รวม มีเมตตา และใช้การสื่อสารเป็นธรรมะในการรักษาซึ่งคนไข้ทุกคนต้องการแพทย์ที่ดูแลตัวเองเป็นเช่นนี้ จึงจะเกิดความไว้ใจศรัทธา และปฏิบัติตามจนสามารถฟื้นไข้และหายได้ในที่สุด จึงอาจกล่าวได้ว่า การให้การศึกษาหรือความรู้แก่คนไข้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี และในทางกลับกันเพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีจึงมีโอกาสให้การศึกษาแก่คนไข้ได้ต่อเนื่องเพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนไข้และแพทย์จึงเป็นเหตุปัจจัยและเป็นผลเชื่อมโยงซึ่งกันและกันกับการที่แพทย์ให้ความรู้แก่คนไข้

แต่ในกรณีของโรคส่วนใหญ่แพทย์มีประสบการณ์ในการรักษาคนไข้โดยการใช้ยาที่มีประสิทธิภาพการผ่าตัดที่ได้ผล จนลืมไปว่าในวิถีชีวิตทางเวชปฏิบัตินั้น แท้จริงแล้วแพทย์มีส่วนอย่างมากในการให้การศึกษาแก่คนไข้อยู่เสมอ ตรงนี้เองที่เป็นจุดอ่อน เพราะในปัจจุบันการใช้ยาและการผ่าตัดได้รับการพัฒนาไปมาก แต่การให้การศึกษาแก่คนไข้และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้ไม่ได้รับความสนใจให้พัฒนาควบคู่กันไป ซึ่งก็อาจไม่เสียหายสำหรับโรคที่ยังมีความหวัง จากการใช้ยาและการผ่าตัด แต่สำหรับโฮปเลสเคสแล้ว การฟื้นไข้ของคนไข้ด้วยการได้รับรู้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนั่นคือความใหม่ของคนไข้ในการหาย

การให้การศึกษาหรือให้ความรู้แก่คนไข้ เป็นส่วนหนึ่งที่แพทย์ใช้รักษาคนไข้อยู่ตลอดเวลา แต่อาจจะไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่น คนที่เป็นไข้หวัด ซึ่งจะมาหาแพทย์กันมากทั้งในโรงพยาบาลของรัฐฯ เองและทั้งในคลินิกเวชปฏิบัติเอกชน ส่วนสำคัญของการดูแลผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดคือ การให้คำแนะนำและการให้การศึกษาแก่คนไข้ถึงการปฏิบัติตัวเพื่อให้ฟื้นไข้ เช่น การเช็ดตัวหรือกินยาแก้ไข้เมื่อมีไข้สูง การดื่มน้ำมากๆ และการพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น

กรณีของโรคหวัดจะเห็นได้ชัดเจนว่า คนไข้จะหายเองได้ด้วยการฟื้นไข้ของร่างกาย เพราะโรคหวัดส่วนใหญ่หายเองได้ และยาที่ให้เป็นยาที่รักษาตามอาการ ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อโรค เพราะไข้หวัดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสและหายเองได้ เพราะระบบการฟื้นไข้ของร่างกายปรับตัวเพียงพอที่จะเอาชนะโรคได้ แต่แพทย์ส่วนใหญ่ก็ยังต้องแนะนำ และให้การศึกษาคนไข้อยู่ดีเพื่อให้กินยามตามสั่ง การรักษาร่างกายให้อบอุ่นและให้สังเกตอาการเป็นโรคแทรกซ้อน เป็นต้น

เรื่องเหล่านี้เป็นคุณค่าที่แพทย์มีต่อคนไข้และเป็นส่วนที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์และคนไข้ คนไข้ส่วนหนึ่งจะรู้สึกว่าแพทย์ดูแลดีหรือไม่อยู่ที่การได้พูดคุยกับแพทย์ ถ้าแพทย์ขยันพูดและอธิบายให้คนไข้เข้าใจได้กระบวนการหายของคนไข้ก็จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแก่คนไข้ และคนไข้มักจะกลับมาหาแพทย์ใหม่ เพื่อติดตามและขอรับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ที่เรียกว่า follow up แต่ในทางกลับกัน ถ้าคนไข้มักจะกลับรู้สึกว่าได้พูดคุยกับแพทย์ และไม่มีความกระจ่างว่าตัวเองป่วยเป็นอะไร ต้องทำตัวอย่างไรจึงจะดีขึ้น ก็หวังได้ยากว่าคนไข้นั้นจะหวนกลับมาหาแพทย์อีก

“กายภาพบำบัด จึงไม่ใช่เพียงกายภาพบำบัด (physical therapy)” อย่างเดียว เพราะว่าถ้าพิจารณาถ่องแท้ตามความจริง กายภาพบำบัดจะสำเร็จได้ต้องใช้การบำบัดแบบองค์รวมที่บำบัดทั้งร่างกายและจิตใจของคนไข้ และบำบัดคนไข้ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งในสังคม ผมโชคดีที่ผมได้รู้จักนักกายภาพบำบัดที่ชื่อ คุณอัญชลี ฝูงชมเชย ที่เธอเป็นนักกายภาพบำบัดแบบองค์รวมคนหนึ่ง ผมพบว่า ในบางวันที่ผมไปรับการทำกายภาพบำบัด (physical therapy) นั้น แต่เธอทำจิตบำบัด (psychotherapy) ให้ผมต่างหาก เพราะการเป็นคนไข้ที่สิ้นหวังย่อมมีบางวันที่หดหู่และท้อถอย ซึ่งคุณอัญชลีที่รับบทนักกายภาพบำบัดเป็นผู้เห็นความท้อถอยของผม

เราพบกันทุกวันๆ ละ 3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เธอจึงลงทุนแก้ปัญหาทางใจของผมด้วยความเมตตาต่อสารพัดทุกข์ที่ผมมีด้วยการพูดคุยอย่างเป็นกันเอง ปลอบใจ ให้กำลังใจทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งผมพบว่าสิ่งที่คุณอัญชลีได้กรุณาแสดงออกนั้น คือ ความเป็นแพทย์อย่างสุดวิสัยที่คนไข้ต้องการ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเองและฝึกฝนต่อ และพัฒนากำลังกายตามมา

นี่เป็นความสุขในความทุกข์ที่แพทย์ช่วยคนไข้ได้อย่างแท้จริง แต่แพทย์เราเองในยุคปัจจุบันกลับไม่เชื่อหรือลืมไป แต่เชื่อเรื่องไฮเทคมากกว่า แต่แท้จริงคนไข้ไม่ได้ต้องการความไฮเทค แต่ต้องการแพทย์ที่พูดคุยด้วยแล้วเข้าใจ มีเมตตา และปรับทุกข์ได้ แพทย์เราควรหันกลับมาให้ความสุขแก่ผู้ได้รับความทุกข์อย่างนี้ จะทำให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้นอีกไม่น้อยโดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย นอกจากลงทุนความเป็นเพื่อนมนุษย์ที่วิสาสะได้เท่านั้นเอง

“เวชศาสตร์ฟื้นฟูไม่ต้องรอให้รักษาไม่ไหวแล้วจึงฟื้นฟู”

ในวงการแพทย์ในบ้านเรามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แม้เราจะไม่ลืมหรือไม่ทิ้งเวชศาสตร์ฟื้นฟูในทางการแพทย์ของเรา แต่ก็มีบางส่วนที่ยังเข้าใจว่า เวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นเรื่องทีหลัง อย่างน้อยก็เป็นเรื่องที่หลังการรักษา แต่ในแนวคิดด้านสาธารณสุขนั้น เขาพูดถึงการป้องกันว่ามีความสำคัญกว่าการรักษาและทุกอย่างเป็นการป้องกันทั้งนั้น คือ

1. “การป้องกันโรค” เป็นการป้องการขั้นแรก (primary prevention) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค

2. “การรักษาโรค” เป็นการป้องกันขั้นที่สอง (secondary prevention) เพื่อป้องกันไม่ให้ปรากฏการณ์ของโรคลุกลามใหญ่โต

3. “การฟื้นฟูสภาพ” เป็นการป้องกันขึ้นที่สาม (tertiary prevention) เพื่อป้องกันไม่ให้มีทุพลภาพหรือความพิการหลงเหลืออยู่จากการเป็นโรคนั้นแล้ว

ถ้าเรามองตามแนวคิดสาธารณสุขที่เป็นสากลนี้ การฟื้นฟูสภาพจึงมิได้ถูกแยกส่วนจากการป้องกันและการรักษาโรค และไม่จำเป็นต้องรอให้รักษาไม่ไหวแล้วจึงฟื้นฟู แต่ควรรีบดำเนินการขึ้นตอนที่ให้คนไข้สามารถฝึกกายภาพบำบัดได้โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันที่มิให้เกิดมีทุพลภาพหรือความพิการอย่างได้ผลที่สุด

ทั้งนี้เพราะในสภาพปัจจุบันคนไข้ที่มาถึงนักกายภาพบำบัดมักจะมาช้ำเกินไป เพราะมัวแต่รอการรักษาโรคที่ไม่ได้ผลแล้วจึงส่งมากายภาพบำบัด ถ้าคนไข้ได้ทำกายภาพบำบัดเร็วขึ้นในระยะที่คนไข้สามารถฝึกฝนได้แล้ว ก็จะทำให้คนไข้หายเป็นปกติได้ดีและเร็วขึ้นมากทีเดียว จึงเป็นเรื่องที่น่าจะช่วยกันเพื่อความสูญเสียอันนี้ลงให้เหลือน้อยที่สุด

 

อ้างอิง…นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 178

Leave a Reply