กายภาพบำบัด ช่วยฟื้นฟูสุขภาพได้อย่างไร

กายภาพบำบัด (Physical Therapy) คือ ศาสตร์ฟื้นฟูสุขภาพด้วยการออกกำลังกายและใช้อุปกรณ์พิเศษ เพื่อรักษาผู้ป่วยให้กลับมาเคลื่อนไหวตามปกติได้มากที่สุด การรักษาด้วยวิธีนี้ใช้บำบัดผู้ป่วยอย่างแพร่หลาย ได้แก่ ทารกที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อตั้งแต่เกิด ผู้ใหญ่ที่เกิดอาการปวดขาแบบไซอาติกา (Sciatica) อันเนื่องมาจากกระดูกทับเส้น ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือได้รับผลกระทบจากการผ่าตัด ผู้สูงอายุที่เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังจากป่วยเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง หรือผู้มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกายจากการป่วยหรือความบกพร่องทางร่างกาย การทำกายภาพบำบัดจะช่วยลดความเจ็บปวดตามอวัยวะที่เกิดปัญหาน้อยลง และสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติหรือเกือบปกติ เนื่องจากการทำกายภาพบำบัดจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงและการเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมทั้งช่วยให้รู้จักวิธีป้องกันการได้รับบาดเจ็บอันเป็นสาเหตุให้ร่างกายเสื่อมสมรรถภาพในการเคลื่อนไหว

กายภาพบำบัด

ผู้ที่ควรเข้ารับกายภาพบำบัดได้แก่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ดังนี้

  • ปวดหลังหรือปวดคอ
  • จำเป็นต้องเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจสำหรับผู้ป่วยที่ประสบปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac Rehabilitation)
  • ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือประสบอุบัติเหตุ
  • ป่วยเป็นมะเร็ง
  • ต้องรับการรักษาบาดแผล
  • พิการที่แขนหรือขา
  • ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อ
  • ผู้ป่วยเด็กจะต้องเข้ารับการทำกายภาพบำบัด ในกรณีที่มีปัญหาสุขภาพต่อไปนี้
    • มีพัฒนาการช้า
    • สมองพิการ
    • ป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรม
    • พิการหรือได้รับบาดเจ็บที่กระดูกและกล้ามเนื้อ
    • มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจและปอด
    • มีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
    • ได้รับยาหรือแอลกอฮอล์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

เป้าหมายในการทำกายภาพบำบัด

ผู้ป่วยที่มีปัญหาหรือป่วยเป็นโรคอื่นอันส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย ควรเข้ารับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวให้ดีขึ้น ทั้งนี้ การทำกายภาพบำบัดมีวัตถุประสงค์ในการรักษาผู้ป่วย ดังนี้

  • ฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายหลังได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุหรือได้รับบาดเจ็บจากสาเหตุต่าง ๆ จะได้รับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูอาการบาดเจ็บ รวมทั้งรู้จักเลี่ยงไม่ให้ตัวเองได้รับบาดเจ็บอีก โดยนักกายภาพบำบัดจะทำกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วย ตั้งแต่ช่วยบรรเทาอาการบาดเจ็บที่เนื้อเยื่ออ่อน (กล้ามเนื้อ เอ็น และกล้ามเนื้อเอ็น) เสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อ และเพิ่มความยืดหยุ่น การทำงาน และพิสัยการเคลื่อนไหว ทั้งนี้ นักกายภาพบำบัดจะประเมินว่าผู้ป่วยควรเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างไร รวมทั้งแนะนำวิธีที่ช่วยให้เกิดการบาดเจ็บน้อยที่สุด
  • รักษาปัญหาสุขภาพเรื้อรังและปัญหาสุขภาพของเด็ก ผู้ป่วยโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis) ข้ออักเสบ หรือโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ สามารถเข้ารับการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้อาการของโรคดีขึ้น โดยนักกายภาพบำบัดจะคิดแผนการทำกายภาพบำบัดที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งประกอบไปด้วยพิสัยการเคลื่อนไหว การเสริมสร้างความแข็งแรง และการออกกำลังสร้างความทนทานร่างกาย ส่วนเด็กที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น สมองพิการ (Cerebral Palsy) จะได้รับการทำกายภาพบำบัดด้วย โดยนักกายภายบำบัดจะช่วยรักษาพิสัยการเคลื่อนไหว ความแข็งแรง ความทนทาน และการเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมทั้งพิจารณาการเจริญเติบโตและความจำเป็นทางพัฒนาการของเด็กร่วมด้วย
  • เสริมสร้างสุขภาพให้แก่ผู้ที่จำเป็นต้องรับการฟื้นฟูร่างกาย ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพอันส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกายหลายระบบ เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง และป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือปอด โรคเรื้อรัง สามารถเกิดภาวะพิการตามมาได้ จึงจำเป็นต้องเข้ารับการทำกายภาพบำบัด ซึ่งจะมีบุคลากรหลายรายร่วมกันช่วยฟื้นฟูผู้ป่วย ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักบำบัดการพูด และนักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัดมีบทบาทสำคัญในการทำกายภาพบำบัดให้แก่ผู้ป่วย โดยจะช่วยระบุพิสัยการเคลื่อนไหว ความแข็งแรง ความทนทาน ความปลอดภัย และการเคลื่อนไหวร่างกาย (เดิน ขึ้นลงบันได ลุกขึ้นยืนจากเตียงหรือเก้าอี้) ทั้งนี้ นักกายภาพบำบัดจะช่วยแนะนำและสอนให้ผู้ป่วยใช้อุปกรณ์เสริมที่ช่วยเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง เช่น อุปกรณ์ช่วยเดิน (Walker) หรือเก้าอี้รถเข็นวีลแชร์ (Wheelchair)

ประเภทของกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัดเพื่อรักษาและฟื้นฟูอาการป่วยมีหลายประเภท ซึ่งประกอบด้วยการออกกำลังกาย  เทคนิคบำบัดด้วยมือ การฝึกผู้ป่วย วิธีรักษาพิเศษ และวิธีบำบัดอื่น ๆ แต่ละวิธีมีรายดังละเอียด ดังนี้

  • การออกกำลังกาย โดยทั่วไปแล้ว การทำกายภาพบำบัดมักเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย เนื่องจากการทำกายภาพบำบัดมีรูปแบบการรักษาที่ช่วยฟื้นฟูอาการบาดเจ็บ อาการป่วย หรือปัญหาสุขภาพต่าง ๆ รวมทั้งช่วยป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพ การออกกำลังกายคือกิจกรรมที่เพิ่มเติมมาจากกิจกรรมทั่วไปที่ทำในแต่ละวัน ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ความแข็งแรง ความทนทานของร่างกายและการทำงานประสานกันระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้อ  อีกทั้งเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายในการทำกิจกรรมแต่ละวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยที่ทำกายภาพบำบัดประกอบด้วย
    • ยืดกล้ามเนื้อ ลดอาการตึงแข็งของข้อต่อ
    • เพิ่มความแข็งแรงร่างกาย ออกกำลังกายที่ฝึกความสมดุลของร่างกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง ท้อง หรือสะโพก
    • ยกน้ำหนัก เพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ
    • ออกกำลังกายรูปแบบอื่น การเดินหรือทำกิจกรรมทางน้ำ ก็ช่วยเพิ่มสมรรถภาพการเคลื่อนไหว ความแข็งแรง และความทนทานของร่างกาย
  • เทคนิคบำบัดด้วยมือ (Manual Therapy) วิธีนี้คือการทำกายภาพบำบัดด้วยมือ เพื่อช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดอาการเจ็บปวด และเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ร่างกาย เทคนิคบำบัดด้วยมือประกอบด้วย
    • นวด นักกายภาพบำบัดจะนวดให้ผู้ป่วย โดยออกแรงกดลงไปตามร่างกาย การนวดจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว เพิ่มการไหลเวียนเลือด และลดอาการเจ็บปวดได้บ้าง
    • ขยับข้อต่อ (Mobilization) ผู้ป่วยที่เนื้อเยื่อเกิดอาการตึงหรือข้อติด จะได้รับการขยับข้อต่อโดยนักกายภาพบำบัดจะพิจารณากระดูกและข้อต่อ และบิด ดึง หรือดันกระดูกและข้อต่อให้กลับเข้าตำแหน่งช้า ๆ การขยับข้อต่อจะช่วยให้เนื้อเยื่อที่อยู่รอบข้อต่อตึงน้อยลง รวมทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นและจัดกระดูกให้อยู่ในแนวมากขึ้น
    • ดัดข้อต่อ (Manipulation) นักกายภาพบำบัดจะออกแรงกดไปที่ข้อต่อ โดยอาจใช้มือหรืออุปกรณ์พิเศษ นักกายภาพบำบัดจะค่อย ๆ ดัดข้อ หรือดัดข้อต่ออย่างรวดเร็ว รวมทั้งอาจลงน้ำหนักเบาหรือแรงเพื่อดัดข้อต่อแตกต่างกันอย่างระมัดระวัง
  • การฝึกผู้ป่วย ผู้ที่เข้ารับการทำกายภาพบำบัดจะได้รับการฝึกเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการออกกำลังกาย เพื่อช่วยฟื้นฟูอาการบาดเจ็บและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ฝึกใช้อุปกรณ์เสริมที่ช่วยในการเคลื่อนไหว เช่น การใช้ไม้ค้ำยันหรือเก้าอี้วีลแชร์ ฝึกทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัยในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น ความแข็งแรงหรือความสมดุลของร่างกาย การฝึกด้านต่าง ๆ นี้จะช่วยป้องกันผู้ป่วยไม่ให้ได้รับบาดเจ็บที่ข้อต่อหรือกล้ามเนื้อซ้ำอีกครั้ง
  • วิธีรักษาพิเศษ ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาด้วยวิธีพิเศษอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยนักกายภาพบำบัดจะได้รับการฝึกทำกายภาพวิธีพิเศษเพื่อรักษาผู้ป่วย ดังนี้
    • ฟื้นฟูระบบการทรงตัว (Vestibular Rehabilitation) ผู้ป่วยโรคบ้านหมุน หรือผู้ทีรู้สึกว่าสิ่งรอบตัวหมุนหรือเอียงนั้น จะได้รับการรักษาด้วยวิธีฟื้นฟูการทรงตัว เพื่อช่วยปรับความสมดุลของหูชั้นในที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายภายนอก เมื่อได้รับการทำกายภาพบำบัดด้วยวิธีดังกล่าว ผู้ป่วยจะสามารถรับมือกับอาการบ้านหมุนที่เกิดขึ้นได้
    • รักษาดูแลบาดแผล บาดแผลที่มีลักษณะร้ายแรงหรือไม่สามารถหายได้ เกิดจากระบบไหลเวียนโลหิตไหลไปเลี้ยงบริเวณดังกล่าวไม่เพียงพอ ผู้ที่เกิดแผลลักษณะนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาบาดแผลอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์จะทำความสะอาดและพันแผลให้เรียบร้อยอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยการบำบัดด้วยออกซิเจนหรือกระตุ้นไฟฟ้า การทำกายภาพบำบัดจึงช่วยให้ผู้ป่วยขยับหรือจัดท่า เพื่อให้การรักษาบาดแผลนั้นดีขึ้น
    • กายภาพบำบัดสำหรับปัญหาอุ้งเชิงกราน ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับอุ้งเชิงกรานจะได้รับการทำกายภาพบำบัดสำหรับรักษาปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะ เช่น ผู้ป่วยที่ประสบภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้หรือผู้ที่ปวดท้องน้อย จะได้รับการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด เพื่อควบคุมหรือบรรเทาอาการของโรคให้ทุเลาลง
    • กายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากอาการของโรค หรือได้รับผลข้างเคียงจากการรักษา อันส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวจะได้รับการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย เพื่อรักษาปัญหาดังกล่าวให้หาย
    • นวดกระตุ้นระบบน้ำเหลือง ผู้ที่ระบบน้ำเหลืองไหลเวียนไม่ดี จะได้รับการนวดเพื่อกระตุ้นระบบน้ำเหลือง โดยวิธีนี้จะช่วยลดอาการบวมน้ำเหลืองที่เกิดจากการที่น้ำเหลืองไม่ไหลออกจากเนื้อเยื่อภายในร่างกาย
  • วิธีบำบัดอื่น ๆ  การทำกายภาพบำบัดประกอบด้วยวิธีรักษาลักษณะอื่นอีกหลายประการ ดังนี้
    • ประคบเย็น การประคบเย็นด้วยน้ำแข็งจะช่วยบรรเทาอาการปวด บวม และอักเสบจากการได้รับบาดเจ็บหรือปัญหาสุขภาพ เช่น โรคข้ออักเสบ โดยจะใช้น้ำแข็งประคบครั้งละ 20 นาที วันละหลายครั้ง ทั้งนี้ นักกายภาพบำบัดยังใช้โลชั่นหรือสเปรย์สูตรเย็นในการรักษาผู้ป่วย
    • ประคบร้อน ผู้ที่มีอาการข้อต่อติดแข็งจากโรคข้อเข่าเสื่อมหรือขยับร่างกายไม่ได้ ควรประคบร้อน เพื่อให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนคลายตัวและมีเลือดไหลเวียนมาเลี้ยง ทั้งนี้ การประคบร้อนยังช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวก่อนออกกำลังกาย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและประคบร้อนเร็วเกินไป อาจเกิดอาการบวมที่บริเวณดังกล่าวมากขึ้น
    • รักษาด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound Therapy) วิธีนี้จะใช้คลื่นเสียงความถี่สูงบรรเทาอาการกล้ามเนื้อกระตุก ช่วยคลายกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกาย บรรเทาอาการปวดและอักเสบ รวมทั้งกระตุ้นให้อาการป่วยหายเร็วขึ้น
    • กระตุ้นด้วยไฟฟ้า (Electrical Stimulation) วิธีนี้จะใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นการทำงานของร่างกาย โดยใช้กระแสไฟฟ้าระดับต่ำรักษาอาการเจ็บปวด หรือกระตุ้นกล้ามเนื้อให้บีบตัวทั้งนี้ การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าถูกนำมาศึกษาเพื่อใช้เป็นวิธีรักษาบาดแผลและกระดูกหักด้วย
    • วารีบำบัด (Hydrotherapy) วิธีนี้คือการรักษาโรคและดูแลสุขภาพด้วยการทำกิจกรรมอยู่ในน้ำ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การออกกำลังในน้ำ (Water Exercise) วารีบำบัดจะใช้รักษาผู้ที่ป่วยโรคข้อเสื่อม ประสบภาวะปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อนหรือโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) หรือเกิดอาการปวดหลัง

กายภาพบำบัดทำอย่างไร

การทำกายภาพบำบัดใช้รักษาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับอาการปวดหลัง ปวดคอ ได้รับบาดเจ็บ หรือป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ที่ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ก่อนเลือกรักษาอาการป่วยด้วยวิธีกายภาพบำบัด โดยคำนึงถึงคำแนะนำแพทย์ว่าจำเป็นต้องเข้ารับการทำหรือมีข้อควรระวังหรือไม่

ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยกายภาพบำบัดจะต้องเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษา โดยนักกายภาพบำบัดจะตรวจร่างกายและสอบถามอาการและกิจกรรมของผู้ป่วยในแต่ละวัน จากนั้นจะวางแผนการรักษาร่วมกับผู้ป่วย การทำกายภาพบำบัดจะช่วยให้ข้อต่อของผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น รวมทั้งฟื้นฟูและเสริมสร้างความยืดหยุ่น ความแข็งแรง ความทนทาน ความสมดุลในการเคลื่อนไหวของร่างกาย และการทำงานประสานกันระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เมื่อเข้ารับการทำกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะเริ่มบำบัดด้วยเทคนิคบำบัดด้วยมือ ฝึกผู้ป่วย และเทคนิคอื่น ๆ เช่น ประคบร้อน ประคบเย็น รักษาด้วยอัลตราซาวด์ และกระตุ้นด้วยไฟฟ้า เพื่อลดอาการปวดบวม

ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับการทำกายภาพบำบัดด้วยการออกกำลังกายยืดเส้น ฝึกความแข็งแรงของร่างกาย ยกน้ำหนัก หรือฝึกเดิน โดยนักกายภาพบำบัดจะช่วยฝึกการออกกำลังกายให้ผู้ป่วยจนสามารถทำได้เองที่บ้าน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจเกิดอาการปวดแสบหรือบวมที่กล้ามเนื้อขึ้นมาบ้าง ซึ่งสามารถปรึกษานักกายภาพได้ในกรณีที่อาการดังกล่าวทำให้รู้สึกไม่สบายตัวมากเกินไป

กายภาพบำบัดสำหรับเด็ก

เด็กที่ป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว จะได้รับการทำกายภาพบำบัดเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและฟื้นฟูสมรรถนะการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยนักกายภาพบำบัดจะดำเนินขั้นตอนการรักษาให้แก่ผู้ป่วยเด็ก ดังนี้

  • วัดความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของร่างกายเด็ก
  • ประเมินการเคลื่อนไหวของเด็ก เช่น การเดินหรือการวิ่ง
  • ระบุปัญหาที่เด็กเป็นอยู่และปัญหาที่จะเกิดขึ้น
  • ทำงานร่วมกับแพทย์ นักจิตวิทยา และครู เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ( Individual Education Plan: IEP) ให้แก่เด็ก
  • ฝึกเด็กและจัดแผนการออกกำลังกายให้เด็กฝึกเองที่บ้าน
  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำกิจกรรมหรือกลับไปเล่นกีฬาอื่น ๆ ได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ นักกายภาพบำบัดจะช่วยฝึกเด็กให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างที่เข้ารับการรักษา ดังนี้

  • กิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการทางร่างกาย เช่น การคลานหรือเดิน
  • กิจกรรมเสริมสร้างความสมดุลในการเคลื่อนไหวของร่างกายและการทำงานประสานกันระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
  • กิจกรรมหรือเกมสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ (Adaptive Play)
  • การออกกำลังในน้ำหรือวิธีวารีบำบัด
  • เทคนิคบำบัดที่หลากหลาย เช่น ประคบร้อน ประคบเย็น ออกกำลังกาย กระตุ้นด้วยไฟฟ้า นวด และรักษาด้วยด้วยอัลตราซาวด์ เพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนมาเลี้ยงบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ
  • การฝึกผู้ป่วยให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ
  • การออกกำลังที่ต้องใช้ความยืดหยุ่นของร่างกาย เพื่อเพิ่มระดับของพิสัยการเคลื่อนไหว

 

อ้างอิง…www.pobpad.com

Leave a Reply